ผู้ที่เป็น ‘โรคข้อเข่าเสื่อม’ หรือมีอาการปวดหัวเข่าจากสาเหตุอื่นๆ การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะยิ่งทำให้อาการลุกลามหรือหายช้า จึงควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ควบคุมน้ำหนัก และการปรับการกินอาหาร แม้ว่าอาหารที่กินนั้นจะไม่ได้ช่วยในการรักษาโรคโดยตรง แต่หากผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เหมาะสมก็จะลดปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว และลดโอกาสการเกิดการอักเสบ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างข้อกระดูกรวมถึงกล้ามเนื้อให้แข็งแรงได้อีกทางหนึ่ง
อาหารที่ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมควรรับประทาน
- อาหารมีกรดไขมันโอเมก้า-3 สูง โดยเฉพาะอาหารทะเล เช่น ปลาทะเล ปลาแซลมอน หรือแม้แต่ปลาน้ำจืดประเภทปลาเนื้อขาว จะช่วยบำรุงข้อต่อกระดูกให้แข็งแรง และลดอาการปวดหรืออักเสบในผู้ป่วยที่มีข้อเข่าอักเสบ และลดอาการติดแข็งบริเวณข้อต่างๆ
- อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระหรือเบต้าแคโรทีนสูง โดยเฉพาะผักต่างๆ อย่างใบยอ ยอดแค ผักโขม ผักคะน้า บรอกโคลี ผักกระเฉด ถั่วงอก อีกทั้งยังควรกินผักให้หลากสี เช่น มะเขือเทศสีแดง แครอทสีส้ม กะหล่ำปลีสีม่วง ข้าวโพดและฟักทองสีเหลือง เพราะจะได้วิตามินที่หลากหลาย โดยเฉพาะผักใบเขียวต่างๆ จะมีวิตามินเคที่มีส่วนช่วยในการบำรุงกระดูกค่อนข้างสูง
- อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น อัลมอนด์อบ งาดำ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น น้ำเต้าหู้ เต้าหู้หลอด แม้แต่การกินปลาตัวเล็กตัวน้อยก็จะช่วยเพิ่มแคลเซียมให้กระดูกแข็งแรง ทั้งนี้ควรจะกินอาหารที่มีวิตามินดีสูง จำพวก นม ไข่ ปลาซาดีน ควบคู่กันไปได้ด้วย เพราะวิตามินดีจะช่วยเรื่องการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น
- อาหารที่อุดมด้วยวิตามินซี โดยเฉพาะผลไม้ต่างๆ เช่น ฝรั่ง ส้ม สับปะรด มะละกอสุก เพราะวิตามินซีจะช่วยต้านการเกิดอนุมูลอิสระอีกทางหนึ่ง
- อาหารที่มีสารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ เช่น เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ แอปเปิ้ล ชาเขียว หัวหอม และมะเขือเทศ จะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมวิตามินซี สร้างความแข็งแรงให้กับเนื้อเยื่อ ทำให้ผนังหลอดเลือดและเส้นเลือดฝอยแข็งแรง ลดโอกาสเกิดการฟกช้ำ บวม
- รับประทานอาหารประเภทอบ ต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง แทนประเภทผัด ทอด หรือแกงกะทิ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว
อาหารที่ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมควรหลีกเลี่ยง
- อาหารเสริมและวิตามินสำเร็จรูป หากต้องการกินควรปรึกษาแพทย์ก่อน แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยขาดวิตามินชนิดใดหรือไม่ และจะกำหนดให้กินในปริมาณที่เหมาะสม เพราะอาหารเสริมหรือวิตามินบางอย่างก็ไม่มีความจำเป็น มีราคาสูง และหากได้รับมากเกินไปกลับจะเป็นโทษมากกว่ามีประโยชน์
- อาหารเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยเกลือ ซีอิ้ว น้ำปลา ซอสปรุงรส และการกินอาหารเค็ม อาหารแปรรูป หมัก ดอง รวมถึงขนมถุงกรุงกรอบ เพราะอาหารที่มีโซเดียมสูงอาจส่งผลให้เซลล์เก็บน้ำไว้มากเกินไปจนร่างกายบวมน้ำ
- อาหารหวานหรืออาหารที่มีน้ำตาลมาก เพราะอาจกระทบต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้แผลหรือกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่าเกิดอักเสบได้ง่ายขึ้น
- แป้งขัดขาว เช่น ขนมปังข้าว พาสต้า ซีเรียล ธัญพืชขัดขาว อาจกระตุ้นการอักเสบของข้อต่อกระดูก
- อาหารทอด หรืออาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมากนอกจากทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มแล้ว อาจเพิ่มการอักเสบได้ จึงควรหลีกเลี่ยง เช่น หมูทอด ไก่ทอด ทอดมัน ลูกชิ้นทอด กล้วยแขก เฟรนซ์ฟราย เค้ก ไอศกรีม
- เนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยอุณหภูมิสูงนานๆ นอกจากเสียคุณค่าทางอาหารแล้ว จะทำให้เกิดสาร AGEs (Advanced Glycation End Products) ที่อาจทำให้เกิดการอักเสบของข้อต่อต่างๆ
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจกระตุ้นอาการต่างๆ ให้รุนแรงขึ้น และอาจเกิดปฏิกิริยากับยาที่กินอยู่ ทำให้ยาออกฤทธิ์ไม่ได้ผลเท่าที่ควร และส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมา
- กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนจะทําให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะ จนอาจทำให้แคลเซียมในร่างกายเสียสมดุล หากได้รับในปริมาณมากๆ เป็นประจำอาจทำให้มวลกระดูกบางลงด้วย