อาการบ่งชี้โรคข้อเข่าเสื่อม พร้อมวิธีรักษาและป้องกัน

หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยิน หรือรู้จักกับ “โรคข้อเข่าเสื่อม” เป็นอย่างดี เพราะว่าเป็นโรคที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มคุณปู่-คุณย่า และคุณตา-คุณยาย โดยที่ลูกหลานอาจจะได้ยินพวกท่านบ่นบ่อย ๆ ว่าปวดเข่า ปวดขา หรือเดินไม่ไหว แต่รู้หรือไม่?

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดข้อเข่า ที่สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ดังนั้น ในบทความนี้จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคข้อเข่าเสื่อม และวิธีรักษา ที่จะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของข้อเข่า และป้องกันไม่ให้ข้อเข่าสึกหรอไปมากกว่าเดิม เพื่อให้ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมทุกคนได้ขยับร่างกาย และเคลื่อนไหวในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขมากที่สุด

โรคข้อเข่าเสื่อม คืออะไร?

โรคข้อเข่าเสื่อม คืออะไร?

โรคข้อเข่าเสื่อม (OA: Knee Osteoarthritis) คือ โรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพ และการสึกหรอของผิวกระดูกอ่อนที่ข้อเข่าตามช่วงอายุ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น น้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์, ใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก, เคยประสบอุบัติเหตุ หรือมีโรคประจำตัว เป็นต้น โดยอาการของข้อเสื่อมที่สามารถพบในผู้ป่วยส่วนใหญ่ คือ อาการปวดข้อเข่า ซึ่งอาการปวดนั้นสามารถส่งผลให้เกิดการอักเสบภายในข้อเข่าได้ ถ้าหากไม่ทำการรักษาอาจเพิ่มระดับความรุนแรงของโรค และความเสียหายของข้อเข่าได้ ดังนั้น หากมีความผิดปกติที่ข้อเข่า จึงควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อมนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่ทำให้ผิวกระดูกอ่อนที่ข้อเข่าเสื่อมลงและสึกหรอ มีดังนี้

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

อายุเพิ่มมากขึ้น

สาเหตุแรกที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม คือ อายุที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผิวกระดูกอ่อนที่ข้อเข่านั้นได้มีการเสื่อมสภาพ รวมถึงสึกหรอจากการใช้งานข้อเข่าตลอดทุกช่วงอายุ จึงส่งผลให้มักพบโรคนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุได้มากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย

น้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์

น้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย เพราะข้อเข่าของผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์นั้นจะต้องรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น และผิวกระดูกอ่อนที่ข้อเข่านั้นได้รับการเสียดสีมากกว่าปกติ จึงส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ

กิจวัตรประจำวัน

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมที่หลาย ๆ คนมักจะมองข้าม คือ การใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดแรงกดที่ข้อเข่า ไม่ว่าจะเป็นการเดินขึ้น-ลงบันได, ยกของหนักอยู่บ่อยครั้ง หรือใช้งานข้อเข่าอย่างหนักเป็นเวลานาน รวมถึงการนั่งบนพื้น, นั่งพับเพียบ, นั่งยอง หรือการย่อเข่าบ่อย ๆ ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

เคยประสบอุบัติเหตุ

สำหรับผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุมาก่อนนั้นมีโอกาสที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่เคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า เช่น ผู้ที่ได้รับประสบอุบัติเหตุจนกระดูกบริเวณหัวเข่าหัก, ข้อเข่าเคลื่อนหลุด, กระดูกสะบ้าเข่าหัก, เส้นเอ็นไขว้หน้าของข้อเข่าฉีกขาด หรือหมอนรองเข่าฉีกขาด เป็นต้น

โรคประจำตัว

โรคประจำตัว เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมเช่นกัน โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับข้ออักเสบ เช่น โรคเก๊าท์ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับข้อเข่า หรือข้ออักเสบ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมที่ควรรู้

หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกปวดเข่า หรือยืดขาไม่ออกอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่ได้สังเกตอาการของตัวเองเท่าที่ควร หรืออาจละเลยอาการเหล่านั้นอยู่เสมอ ดังนั้น ทุกคนควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองหรือผู้สูงอายุในครอบครัว โดยอาการบ่งชี้ของโรคข้อเข่าเสื่อม มีดังนี้

จะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อเข่าเสื่อม

มีอาการปวดเข่าอยู่บ่อยครั้ง

ถ้าหากมีอาการปวดเข่าอยู่บ่อยครั้ง ถือว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม โดยอาการปวดข้อเข่านั้นมักจะเป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลามากกว่า 6 เดือน หรือว่ารู้สึกปวดในขณะทำกิจกรรม เช่น เดินระยะไกล, นั่งยอง, นั่งพับเพียบ, นั่งสมาธิ หรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดแรงกดต่อข้อเข่าเยอะ เป็นต้น ซึ่งหลาย ๆ คนมักจะมองข้ามอาการปวดเข่า เพราะคิดว่าอาการปวดหัวเข่านั้นเพียงแค่นั่งพัก หรือทานยาแก้ปวดก็หาย ซึ่งถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจไม่สามารถหายเองได้ หรืออาจจะปวดบ่อยมากกว่าเดิม

มีอาการเข่าติด หรือฝืดตึง

อาการเข่าติด หรือฝืดตึง เป็นอีกอาการที่สามารถบ่งบอกได้ถึงโรคข้อเข่าเสื่อม โดยอาการเข่าติด หรือฝืดตึงนั้นมักจะพบในตอนเช้า หรือหลังจากตื่นนอน ซึ่งจะมีอาการเข่าติด ฝืดตึง ไม่สามารถยืดเหยียด หรืองอเข่าได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้เคลื่อนไหวได้ลำบากในช่วงเช้า รวมถึง ช่วงที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายในระยะหนึ่ง แล้วจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ก็จะมีอาการเข่าติด ฝืดตึง หรือเคลื่อนไหวได้ลำบากเช่นกัน

มีเสียงในข้อเข่า

การมีเสียงในข้อเข่าเป็นอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมที่สามารถสังเกตได้ง่าย โดยจะได้ยินเสียงดังมาจากข้อเข่าในขณะที่เคลื่อนไหว เช่น ขณะที่เหยียด หรืองอเข่า เป็นต้น ซึ่งบางคนอาจจะมีอาการปวดร่วมด้วย ดังนั้น ถ้าหากสังเกตได้ว่าตัวเองมีเสียงในข้อเข่า ควรเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

มีอาการบวม

ถ้าหากสังเกตได้ว่าบริเวณข้อเข่ามีอาการบวม หรืออุณหภูมิบริเวณหัวเข่าข้างใดข้างหนึ่งสูงกว่าอีกข้าง ควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ และเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพราะว่าอาการบวมในบริเวณข้อเข่านั้นเป็นอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมที่เกิดจากการอักเสบภายในข้อเข่า หรือข้ออักเสบ โดยอาการนี้มักจะพบในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลาง แต่ถ้าหากไม่เข้ารับการรักษา อาการอาจจะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

มีอาการเจ็บ เมื่อกดบริเวณข้อเข่า

เมื่อกดบริเวณข้อเข่าแล้วมีอาการเจ็บ ถือว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อม โดยจะรู้สึกเจ็บบริเวณข้อเข่า โดยเฉพาะด้านในของข้อเข่า ซึ่งบางคนอาจจะมีอาการปวดบริเวณด้านหน้าหรือด้านหลังหัวเข่าร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ดังนั้น ถ้าหากมีอาการเหล่านี้ จึงควรรีบพบแพทย์ และเข้ารับการรักษา เพื่อชะลอความรุนแรง และการเสื่อมของข้อเข่าที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้น

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นกับกลุ่มวัยไหนได้บ้าง?

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุมากที่สุด เพราะว่าผิวกระดูกอ่อนที่ข้อเข่านั้นมีการเสื่อมสภาพ และสึกหรอไปตามช่วงวัย แต่ว่าโรคนี้ก็ยังพบผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป และในกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี โดยสาเหตุที่โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่อายุน้อยนั้นมาจากการใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก หรือกิจวัตรประจำวันที่สามารถส่งผลต่อข้อเข่าได้โดยตรง ถ้าหากไม่ดูแลตัวเองไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มอายุน้อย ก็มีโอกาสเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน

วิธีแก้ปวดเข่าเบื้องต้นจากโรคข้อเข่าเสื่อม

อาการปวด ถือว่าเป็นอาการหลักของโรคข้อเข่าเสื่อมที่ผู้มีความเสี่ยง หรือผู้ที่ป่วยโรคนี้มักจะพบอยู่เป็นประจำ  โดยวิธีแก้ปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อมเบื้องต้นที่ทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ มีดังนี้

รับประทานยาแก้ปวด หรือแก้อักเสบ

วิธีแก้ปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อมที่หลาย ๆ คนนิยมใช้กัน คือ การรับประทานยาแก้ปวด หรือยาแก้อักเสบ อย่างเช่น ยาพาราเซตามอล เพราะว่าเป็นวิธีที่สามารถแก้ปวดได้อย่างตรงจุดมากที่สุด และเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดอาการปวดข้อเข่าที่อาจรบกวนชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้

ปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน

การปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นวิธีแก้ปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการแก้จากต้นเหตุ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ต้องใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก เช่น พยายามหลีกเลี่ยงการยกของหนัก, ไม่นั่งหรือยืนท่าเดิมเป็นเวลานาน, ปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ และพักการใช้งานของข้อเข่าเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ข้อเข่านั้นทำงานหนักจนเกินไป

ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์

วิธีแก้ปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างการลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ เป็นอีกวิธีแก้ปวดเข่าเบื้องต้นที่เป็นการแก้จากต้นเหตุเช่นกัน โดยการลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์นั้นจะช่วยให้ข้อเข่าไม่ต้องรับน้ำหนักที่มากเกินไป ลดแรงกระทำต่อข้อเข่า และส่งผลให้ผิวกระดูกอ่อนที่ข้อเข่าไม่เสียดสีกันมากกว่าปกติ จึงสามารถช่วยแก้อาการปวดที่ข้อเข่าได้เป็นอย่างดี

บริหารกล้ามเนื้อหัวเข่าอย่างสม่ำเสมอ

การบริการกล้ามเนื้อหัวเข่าอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีการแก้ปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อมที่ต้องทำเป็นประจำ และทำอย่างสม่ำเสมอ โดยการบริการกล้ามเนื้อหัวเข่านั้นสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่อเข่าน้อย เช่น การเดินเร็ว, การว่ายน้ำ, การเต้นแอโรบิกที่ไม่มีท่ากระโดด หรือออกกำลังกายด้วยท่าบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่า เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่า และเพิ่มความความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อรอบข้อเข่ามากยิ่งขึ้น

วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในทางการแพทย์

ถึงแม้ว่าจะสามารถแก้อาการปวดข้อเข่าเบื้องต้นด้วยตนเองได้ แต่การเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีก็มีความจำเป็นเช่นกัน โดยวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในทางการแพทย์ที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีทั้งหมด ดังนี้

ฉีดยาสเตียรอยด์

การฉีดยาสเตียรอยด์ เป็นวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่มักจะใช้ในผู้ป่วยที่ข้อเข่ามีอาการอักเสบแบบเฉียบพลัน หรือผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการทานยา โดยยาสเตียรอยด์นั้นจะช่วยลดอาการอักเสบ บวม และแดงได้อย่างรวดเร็ว แต่ว่าฤทธิ์ยาจะอยู่ได้ในระยะสั้น ดังนั้น การฉีดยาสเตียรอยด์จึงเลือกใช้ในกรณีที่จำเป็น หรือตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

ฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียม

การฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียม เป็นวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่ใช้ในผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแรกจนถึงปานกลาง โดยการฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมนั้นสามารถช่วยลดอาการปวดของผู้ป่วยได้ เพราะว่าน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมจะช่วยเพิ่มความหล่อลื่นให้กับข้อเข่า และช่วยลดแรงกระแทกบริเวณข้อเข่าได้ในบางส่วน ซึ่งน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมจะออกฤทธิ์ เพื่อช่วยลดอาการปวดช้ากว่ายาสเตียรอยด์ แต่ว่าสามารถช่วยลดอาการปวดได้นานกว่า

ฉีด PRP (Platelet Rich Plasma)

การฉีด PRP (Platelet Rich Plasma) หรือที่หลาย ๆ คนอาจจะเรียกว่าการฉีดเกล็ดเลือด เป็นวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการนำเลือดของผู้ที่รับการรักษามาปั่น เพื่อแยกเกล็ดเลือด และสารช่วยสร้างเนื้อเยื่อ หลังจากนั้นจะนำเกล็ดเลือดเข้มข้นที่ได้ไปฉีดในส่วนข้อที่มีปัญหา ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ และช่วยให้บริเวณที่บาดเจ็บมีอาการดีขึ้น แถมยังเป็นวิธีที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง และผลข้างเคียงต่ำอีกด้วย

การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัด เป็นวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการเน้นไปที่การบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า และต้นขาด้านหลัง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพยุง พร้อมกับรับน้ำหนักของตัวเองได้มากขึ้น และช่วยแบ่งเบาน้ำหนักที่ถ่ายลงมายังข้อเข่าได้มากขึ้น ซึ่งสามารถเสริมสร้าง และฟื้นฟูกล้ามเนื้อหัวเข่าให้แข็งแรงมากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยบรรเทาอาการปวดหัวเข่าให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แถมยังช่วยป้องกันอาการปวดเข่าในระยะยาวได้อีกด้วย

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่ช่วยลดอาการปวดข้อได้ดีที่สุด เพราะว่าเป็นการผ่าตัดที่ใส่ข้อเข่าเทียมครอบข้อเข่าเดิมที่มีการเสื่อมสภาพและสึกหรอ ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีเทคโนโลยีในการผ่าเข่าที่ก้าวหน้า ส่งผลให้แผลของผู้ป่วยนั้นมีขนาดเล็ก ใช้เวลาในการผ่าเข่าสั้นลง และไม่ต้องพักฟื้นนาน จึงทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกถึงอาการปวดข้อเข่าที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แถมยังสามารถใช้งานข้อเข่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ว่าก็สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ยังมีอายุน้อยเช่นกัน

โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอายุที่เพิ่มมากขึ้น น้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์ หรือการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น ดังนั้น ทุกคนจึงควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง หรือสมาชิกภายในครอบครัวว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ เพื่อจะได้บรรเทาอาการปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อม และเข้ารับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่ถูกวิธี และตรงจุดมากที่สุด